วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

ออกเดินทางสู่โลกอันกว้างใหญ่

        วันนี้ ผมมีสถานที่เที่ยวมาเเนะนำ ไปพร้อมๆกับการย้อนรอยตำนานดินเเดนต้อง  "ต้องคำสาป" ของพระนางเลือดขาวที่เล่าขานสืบมายาวนานถึง 7 ชั่วอายุคน


เครื่องหมายการค้า ที่ทำให้ลังกาวีกลายเป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยว แต่ที่จริง เกาะแห่งนี้ยังมีนิยายปรัมปราอีกเป็นกระบุง
          ว่ากันว่าประวัติศาสตร์เบื้องต้น ที่มนุษย์เราบันทึกฝากต่อกันมา ตั้งแต่ก่อนจะทำความรู้จักกับตัวอักษรก็คือ เรื่องเล่า  แต่ละสภาพการณ์แปรเปลี่ยนเป็นเรื่องราวร้อยพัน ที่สร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่คนรุ่นหลังไม่รู้จบ ยิ่งเมื่อตำนานเกิดขึ้นมาพร้อมกับความศักดิ์สิทธิ์

          เหมือนกับโศกนาฏกรรม "ต้องคำสาป" ของพระนางเลือดขาวที่เล่าขานสืบมายาวนานถึง 7 ชั่วอายุคน น้ำหนักความเชื่อของชาวลังกาวีจึง อยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างหมดข้อกังขา ภาพหยดเลือดสีขาวที่ค่อยๆ หลั่งรินจากร่างของหญิงสาวผู้ถูกป้ายสีมักปรากฏอยู่ด้วยแทบทุกครั้งเมื่อพูด ถึง "ลังกาวี" หมู่เกาะฟากตะวันตกเฉียงเหนือแห่งคาบสมุทรมาเลเซีย

          อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน พอบวกลบกับคลื่นลมบนดาดฟ้าเรือเฟอร์รี่ที่กำลังแล่นผ่านเกาะตะรุเตาเข้าสู่ น่านน้ำสากล นอกจากจะทำให้จังหวะหัวใจเต้นถี่ผิดปกติแล้ว ยังทำให้ใครบางคนออกอาการ "เมา" เล็กน้อย ฟ้าที่เคยใสเปลี่ยนสีให้เสียวใจเล่นอย่างนี้ ก็ยิ่งสร้างความกังวลให้แก่ผู้มาเยือนครั้งแรกเป็นธรรมดา กว่าจะปรับตัวให้เข้ากับจังหวะท้องเรือกระแทกผิวน้ำตลอด หนึ่งชั่วโมงของการเดินทางจากท่าเรือตำมะลัง จ.สตูล เราก็เดินทางมาถึงท่าเทียบเรือกัวห์บนเกาะลังกาวีเสียแล้ว

        ตามตำนานเล่าว่า พระนางมัสซูรี เป็นหญิงสาวชาวภูเก็ต ที่อนุชาองค์สุลต่านแห่งลังกาวี ทรงเลือกเป็นคู่ครอง เนื่องจากพระนางเป็นหญิงสาวที่มีความเพียบพร้อมทั้งงานบ้านงานเรือนและความสวยงาม ทั้ง ๆ ที่ทางราชวงศ์ได้คัดเลือกหญิงสาวชาวลังกาวีหลายคนให้พระอนุชาเลือก แต่ก็ไม่ถูกใจ กลับมาถูกใจสาวไทยชาวภูเก็ต พระนางมัสซูรี มาอยู่กับพระอนุชาของสุลต่านในฐานะพระชายาองค์รอง แต่ด้วยเหตุที่พระชายาองค์ใหญ่ ซึ่งมีฐานะเป็นปะไหมสุหรีมีบุตรเป็นหญิง
ส่วนพระนางมัตซูรีมีบุตรเป็นชาย ตามกฎของสำนัก พระชายาที่มีบุตรเป็นชายจะได้รับตำแหน่งปะไหมสุหรี ทำให้ชาวลังกาวีที่เป็นพระญาติของปะไหมสุหรีองค์เดิมเก็บความอิจฉาไว้ลึก ๆ หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้เกิดสงคราม มีเหตุให้พระอนุชาขององค์สุลต่าน ซึ่งเป็นพระสวามีของพระนางมัสซูรี ต้องเดินทางออกรบกับกองทัพไทยที่บุกมา ดังนั้นเป็นโอกาสของผู้ที่ปองร้าย ต่างหาเรื่องสร้างสถานการณ์ว่าพระนางมัสซูรีมีชู้ ทำให้องค์สุลต่าน ตัดสินประหารชีวิตพระนางด้วยกริช

        โดยที่พระอนุชา สวามีของนางไม่อาจกลับมาช่วยเหลือได้ทัน ก่อนเสียชีวิตพระนางอธิษฐานว่า หากนางไม่มีความผิด ขอให้โลหิตที่หลั่งออกมาเป็นสีขาวเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนาง และขอให้เกาะลังกาวีไร้ความเจริญไป 7 ชั่วคน แต่คมกริชประหารกลับไม่ระคายผิวนางเลย พระนางมัสซูรี จึงบอกกับเพชฌฆาตให้กลับไปนำกริชพิเศษของต้นตระกูลจากบ้านของนางมา ขณะที่คมกริชจดลงไปบนคอของนาง โลหิตสีขาวก็พวยพุ่งขึ้นข้างบนราวกับเป็นร่ม โดยไม่ตกลงบนพื้นดินเลย

 องค์สุลต่านเองก็ช่วยชีวิตพระนางไม่ได้ เพราะพระนางเสียเลือดมากแล้ว ด้านพี่ชายของพระนางมัสซูรีเกรงว่า หลานชายวัย 5 เดือน ทายาทคนเดียวของมัสซูรีจะมีภัย จึงนำลงเรือล่องมายังเกาะภูเก็ตและเริ่มตั้งรกรากที่นี่ โอรสของพระนางมัสซูรีเติบโตขึ้นมีนามว่า โต๊ะวัน นับเป็นทายาทรุ่นที่ 1 และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเกาะลังกาวีก็เงียบเหงา ผู้คนอยู่กันอย่างไม่มีความสุขในมนต์ตราแห่งการสาปแช่ง มาจนถึง 7 ชั่วคน จนกระทั่งมาถึง น.ส.สิรินทรา ยายี ทายาทรุ่นที่ 7 ของพระนางมัสซูรี เวลา 200 กว่าปี หรือ 7 ชั่วคนนั้นได้ผ่านไปแล้ว นับจากนี้ไปจะเป็นยุครุ่งโรจน์โชติชัชวาลของลังกาวีอีกครั้งหนึ่ง.....

เยือน... หมู่เกาะแห่งตำนาน          เกาะลังกาวี หรือ ไทรบุรี ปัจจุบันอยู่ในรัฐเกดะห์ ของมาเลเซีย นับเป็นเกาะพี่เกาะน้องกับเกาะตะรุเตาของไทย เพราะอยู่ห่างกันประมาณ 8 กิโลเมตรเท่านั้น ชาวไทยที่อยู่แถบนี้และชาวลังกาวีจึง เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน ไม่ต่างจากแนวชายแดนฟากอื่น วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตแทบไม่ต้องปรับอะไรมากนอกจากเข็มสั้นเข็มยาวที่อยู่บนหน้าปัด นาฬิกา เพราะไทยจะช้ากว่ามาเลย์ 1 ชั่วโมง



ลังกาวี


          หลังขึ้นจากท่าเรือกัวห์ สิ่งแรกที่จะสังเกตเห็นได้ขณะลากกระเป๋าผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองก็คือ นกอินทรียักษ์ที่อยู่ตรง จัตุรัสนกอินทรี หรือ ดาตารันลัง (Dataran Lang) สัญลักษณ์ของลังกาวีที่ตั้งอยู่ริมทะเลคอยต้อนรับผู้มาเยือน ตามตำนานเล่าว่า "ลังกาวี" มาจากนกอินทรี หรือ "เฮอลัง" ในภาษามาเลย์ ส่วนคำว่า "กาวี" หมายถึง สีน้ำตาลแกมแดง ดังนั้น ลังกาวี จึงหมายถึง นกอินทรีสีน้ำตาลแกมแดง นั่นเอง
          หากสังเกตให้ดีที่ตัวรูปปั้นเราจะพบว่า นกตัวนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สู่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม ในขณะที่นกอินทรีของดินแดนมุสลิมอื่นๆ จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่นั้นๆ

          ตลอดเวลาที่ผ่านมา "คำสาปมะห์ซูรี" ถือเป็นเครื่องหมายการค้าสำคัญที่ทำให้ ลังกาวี กลายเป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย) เมื่อพูดถึงที่นี่คำสาปของพระนางก็จะปรากฏขึ้นเคียงคู่เสมอ

          แต่ใครจะรู้ อันที่จริงเกาะนกอินทรีแห่งนี้ยังอุดมไปด้วยนิยายปรัมปราที่เล่าลือสืบต่อ กันมาแต่โบราณอีกเป็นกระบุง เรื่องของนกยักษ์ นักรบผู้กล้าหาญ นางฟ้า รวมถึงการสู้รบ และความรักที่น่าประทับใจ ชนิดฟังกัน 3 วัน 3 คืนไม่จบ

          จากข้อมูลของ ประวิทย์ เยี่ยมสิริวุฒิ มัคคุเทศก์ประจำทริปทำให้เรารู้ว่า ปัจจุบัน ลังกาวีประกอบ ไปด้วยหมู่เกาะ 99 เกาะจากเดิม 104 เกาะ เพราะบางเกาะถูกน้ำท่วมจมหายไป มีพื้นที่ 470 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 50,000 เอเคอร์ ที่นี่มีภูเขาสำคัญอยู่ 3 ลูกทอดตัวไปทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะคือ กูนุง มะจิงจัง, กูนุง ซาบา และกูนุง ลายา


          ภูเขาทั้งสามมีตำนานเล่าถึงยักษ์สองตนที่อาศัยอยู่บนเกาะ คือ ยักษ์ลายา และยักษ์มะจิงจัง วันหนึ่งยักษ์สองตนนี้เกิดทะเลาะกันขึ้นมา จนทำให้หม้อน้ำแกงของชาวบ้านหก จึงกลายเป็นที่มาของ เมืองกัวห์ (Kuah - ภาษามลายูแปลว่า น้ำแกง) ในปัจจุบัน เมื่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจึงพากันไปบอกเทวดา เมื่อเทวดารู้เรื่องก็โกรธ สาปให้ยักษ์ทั้งสองกลายเป็นภูเขาลายาและภูเขามะจิงจัง โดยเนรมิตให้มีภูเขาซาบา (ในภาษามลายูแปลว่า ห้าม) คั่นตรงกลางเพื่อไม่ให้ยักษ์ทั้งสองเห็นกัน ในเวลาต่อมา ยักษ์มะจิงจังเกิดสำนึกผิดอยากกลับมาเป็นยักษ์เหมือนเดิมแต่ไม่ได้รับอนุญาต ก็เสียใจร้องไห้ออกมาเป็น น้ำตกเตอลาก้า ตูโจ๊ะ หรือ น้ำตกเจ็ดบ่อ ที่สายน้ำไหลตกลงมานั้นต้องผ่านสระน้ำธรรมชาติ 7 แห่งในผืนป่า และยังมีบางตำนานเล่าว่า ที่น้ำตกแห่งนี้ในอดีตเหล่านางฟ้าเคยมาเล่นน้ำอยู่เป็นประจำด้วย

          หลังเรื่องเล่าบนแผ่นดินใหญ่ ห่างออกไปจากลังกาวี 15 นาทีด้วยสปีดโบ๊ท ก็จะพบ เกาะดายังบุนติง หรือเกาะนางรำผู้มีความสวยงาม ที่มีตำนาน "ขึ้นชื่อ" ไม่แพ้กัน เกาะนางรำนี้มีเรื่องเล่าอยู่ว่า มีนางรำคนหนึ่งในราชวังมีความสัมพันธ์กับพระราชา สมัยนั้นชาวบ้านกับพระราชาไม่สามารถจะอยู่ด้วยกันได้ ขณะที่เธอตั้งครรภ์อยู่ได้ถูกขับไล่มาบนเกาะนี้ เธอจึงเสียใจคิดฆ่าตัวตายโดยอธิษฐานไว้ว่า หากใครไม่มีลูกถ้ามาที่นี่ตักน้ำดื่ม กลับไปแล้วจะสมหวัง จากนั้นก็จบชีวิตตัวเองลงที่ก้นสระ บริเวณนั้นจึงกลายเป็นวังน้ำจืดที่รายรอบไปด้วยน้ำเค็ม มีอาณาเขตประมาณ 2 เมตร ซึ่งยังคงมีอยู่ถึงทุกวันนี้

          ตำนานอันหลากหลายเหล่านี้ถือเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า แม้จะต่างภาษา แต่แนวคิด คติความเชื่อตามแบบฉบับของผู้คนแห่งดินแดนอุษาคเนย์ ไม่ได้คัดแยกความเป็นคนถิ่นเดียวกันออกไปได้เลยสักนิด